เชื่อว่าในปัจจุบันคงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักอุปกรณ์ประจำสำนักงานสารพัดประโยชน์อย่างเทปใส หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “สกอตช์เทป” กันอีกแล้ว ว่าแต่เพื่อนๆ เคยสงสัยกันไหมว่าใครกันนะที่คิดค้นเจ้าสกอตช์เทปที่เราใช้กันทุกวันนี้ขึ้นมา
คนที่คิดคิดค้นสกอตช์เทปขึ้นมานั้นมีชื่อว่า “Richard Drew” ชายผู้เป็นวิศวกรชาวอเมริกัน ที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในศตวรรษที่ 20 ผู้เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1899 ที่เมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตาสหรัฐอเมริกา
เขาใช้ชีวิตในวัยเด็กเป็นนักดนตรีในเวลาการแสดงเต้นรำจนสามารถหาเงินส่งตัวเองเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมินนิโซตาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตามหลังจากเรียนไปได้เพียง 18 เดือน เขาก็ตัดสินใจลาออก และไปทำงานให้กับบริษัทเหมืองและการผลิตแห่งมินนิโซตา (ต่อมารู้จักกันในชื่อ 3M) ซึ่งในเวลานั้นกำลังทำธุรกิจเกี่ยวกับกระดาษทรายอยู่
ในช่วงแรกๆ ของการทำงาน Richard จะรับหน้าที่ขนส่งกระดาษทรายไปให้ผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งอาศัยกระดาษดังกล่าวในการลงสีรถอีกที
ในเวลานั้นการลงสีรถยนต์จะใช้กาวผสมกับกระดาษอย่างหนังสือพิมพ์ในการป้องกันไม่ให้สีรถเปื้อนไปในบริเวณที่ไม่ต้องการ ซึ่งแม้ว่าจะป้องกันสีได้ดี แต่การใช้กาวทำงานก็ทำให้รถที่ออกมานั้นมักจะมีปัญหาคราบเหนียวติดเต็มไปหมด ดังนั้นคุณ Richard จึงคิดที่จะหาหนทางที่ทำให้ปัญหาคราบเหนียวจากกาวหายไป
Richard ใช้เวลา 2 ปีหลังจากวันนั้นในการตามหาสูตรเทปกาวที่เหนียวแต่ก็ง่ายที่จะลอกออก โดยเขาทำการทดลองกับของแทบทุกอย่างที่หาได้ ตั้งแต่น้ำมันพืช เรื่อยไปถึงยางไม้ แถมยังหมกมุ่นกับมันมากจนช่วงหนึ่งเขาถูกเจ้านายตำหนิให้กลับไปทำงานส่งของ
และแล้วเมื่อเวลาดำเนินมาถึงในปี 1925 ในที่สุดคุณ Richard ก็พบกับสูตรเทปกาวที่เขาตามหาจนได้ โดยมันเป็นเทปที่ทำขึ้นจากกาวผสมกับกลีเซอรีน อย่างไรก็ตามในช่วงแรกๆ ตัวเทปกาวยังเรียกไม่ได้ว่าสมบูรณ์มากนักจนคนงานลงสีรถล้อเลียนเทปกาวของเขาว่าเป็น “สกอตช์เทป” จากการที่ในสมัยนั้นของจากสกอตแลนด์จะถูกมองว่าเป็นของถูก
ชื่อสกอตช์เทปติดหูของคุณ Richard มาก ดังนั้นในปี 1930 เมื่อที่เขาพัฒนาเทปกาวดังกล่าวจนวางขายเป็นสินค้าได้ เขาก็ตัดสินใจใช้ชื่อสกอตช์เทปเพื่อเรียกสินค้าของตัวเอง
ตั้งแต่วันนั้นมาสกอตช์เทปของบริษัท 3M ก็ถูกพัฒนาให้มีรูปแบบที่หลากหลายและใช้งานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา จนทำให้มันกลายเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้คน โดยเพราะในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ซึ่งผู้คนเลือกที่จะซ่อมของในบ้านตัวเองด้วยสกอตช์เทปมากกว่าที่จะซื้อของใหม่อย่างที่เคยเป็น
สกอตช์เทปถูกใช้งานตั้งแต่ติดหน้าหนังสือที่ขาด ซ่อมแจกันที่พัง เรื่อยไปถึงขั้นใช้ห้ามเลือดในบางเวลาที่อุปกรณ์ไม่อำนวย และการใช้งานจิปาถะอื่นๆ ที่พวกเราก็คงจะนึกภาพออกกันเป็นอย่างดี
ความสำเร็จของสกอตช์เทปทำให้คุณ Richard ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหนึ่งในผู้บริหารของบริษัท 3M แถมยังทำให้ทาง 3M เห็นคุณค่าของการปล่อยให้พนักงานทำตามความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง จนออกกฎที่จะให้นักวิจัยของบริษัทสามารถให้เวลา 15% ของการทำงานในการทำโปรเจกต์ที่ตัวเองชอบเลย
ซึ่งแนวคิดนี้เอง ก็ถูกนำมาใช้ในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งอย่าง Google และ Hewlett Packard ในเวลาต่อมา
ทั้งนี้เองคุณ Richard ได้เกษียณออกมาจากบริษัท 3M ในปี 1962 ก่อนที่จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างสงบจนกระทั่งเสียชีวิตลงในปี 1980 ด้วยอายุ 81 ปี ทิ้งเอาไว้ซึ่งชื่อเสียงที่จะเป็นที่จดจำ และผลงานสุดล้ำค่าที่ยังคงมีการใช้งานอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก แม้แต่ในปัจจุบัน
ที่มา smithsonianmag
0 ความคิดเห็น